กลุ่มรณรงค์คัดค้านการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงได้ออกมาแสดงความเห็นว่า การขึ้นภาษีสินค้าดังกล่าว ไม่ได้เป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนที่สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญอยู่ ในทางกลับกัน อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการจ้างงาน และยังมีผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น

ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลม ผู้ประกอบกิจการผับ ร้านสะดวกซื้อ ได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านแผนการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงก่อนที่จะมีการริเริ่มประชุมหารือของรัฐบาล  โดยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นาย George Osborne ได้มีการประกาศแผนการในการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มิใช่แอลกอฮอลล์  ที่มีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า 5 กรัม ต่อปริมาณ 100 มิลลิลิตร ในช่วงเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวคาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในวัยเด็ก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของการขึ้นภาษีดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2018 ในขณะที่กลุ่มรณรงค์ด้านสุขภาพได้เสนอให้เก็บภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของราคาจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีปริมาณน้ำตาลสูงต่อหน่วย

ผลการศึกษาของ Oxford Economics เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เปิดเผยว่า การเก็บภาษีดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ยอดจำหน่ายของเครื่องดื่มน้ำอัดลมลดลงประมาณ 1.6% และอาจส่งให้เกิดการสูญเสียการจ้างงานมากกว่า 4,000 ตำแหน่งในสหราชอาณาจักร ในขณะที่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมน้ำหวานน้ำอัดลมจะสูญเสียรายได้มูลค่า 132 ล้านปอนด์

 

 

นาย Gavin  Partington ผู้อำนวยการสมาคมเครื่องดื่มน้ำหวานน้ำอัดลมของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการณรงค์ครั้งนี้ ได้เปิดเผยว่า แม้จะเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ว่า สหราชอาณาจักรประสบปัญหาโรคอ้วนในระดับสูง และจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ได้เห็นว่าการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงนั้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่กลับเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภค  ในขณะที่นาย Brigid Simmonds หัวหน้าฝ่ายบริหารสมาคมเบียร์และผับของอังกฤษ กล่าวว่า การขึ้นภาษีสินค้าดังกล่าวเป็นการเพิ่มภาระด้านภาษีแก่ธุรกิจ pub และมีผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากเอกสารผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมีความเชื่อมโยงกับโรคอ้วน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 29% ของการบริโภคน้ำตาลเป็นประจำในเด็กวัย 11 -18 ขวบ โดยกลุ่ม The Charity Action on Sugar เห็นว่า การขึ้นภาษีสินค้าดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการบริโภค เนื่องจากประชาชนมีความอ่อนไหวต่อราคาของสินค้า โดยการรณรงค์ดังกล่าวได้เริ่มขึ้นภายหลังจากที่บริษัท โคคา โคล่า ได้ออกมาคัดค้านการขึ้นภาษีสินค้าเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร สมาคมอาหารและเครื่องดื่มได้เรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนแผนการดังกล่าวออกไปภายหลังจากการลงประชามติของสหราชอาณาจักรในการตัดสินใจออกจาก EU

ที่มา: The Guardian

ผลกระทบต่อการส่งออกไทย/ข้อเสนอแนะ

 

การขึ้นภาษีสินค้าน้ำหวานน้ำอัดลมที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ยังคงเป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันในสหราชอาณาจักร โดยกลุ่มรณรงค์ด้านสุขภาพได้เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการการเพิ่มภาษีในสินค้าเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วนที่สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญอยู่ ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำหวานน้ำอัดลม ผู้ประกอบกิจการร้านค้า และผับ เห็นว่าแนวทางการขึ้นภาษีสินค้าดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาโรคอ้วน แต่กลับเป็นการสร้างความเสี่ยงต่อการจ้างงาน และทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดในการขึ้นภาษีสินค้าดังกล่าว กอปรกับการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีของ สหราชอาณาจักร ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นาง Theresa May และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ นาย Philip Hammond

 

สหราชอาณาจักรถือเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกเครื่องดื่มที่สำคัญของไทย คิดเป็นสัดส่วน 0.44 ของตลาดส่งออกเครื่องดื่มทั้งหมด และมีแนวโน้มที่ให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น             ในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงและมีการพัฒนาสูตรและรูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่ๆ           ที่หลากหลาย ดังนั้น ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย จึงควรพัฒนาสินค้าเครื่องดื่มโดยคำนึงในด้านสุขภาพและมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร