รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศใช้มาตรการ National Lockdown เป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 6 มกราคม 2564 โดยการประกาศ Lockdown ครั้งนี้เป็นผลของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้ระบบการให้บริการสาธารณสุขใกล้เกินขีดความสามารถในการให้บริการ โดยได้ประกาศให้มีการ Lockdown ทั่วอังกฤษ ซึ่งรวมถึงการสั่งห้ามประชาชนออกนอกบ้านโดยไม่มีความจำเป็น และสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ ในขณะที่รัฐบาลจะยังเร่งการแจกจ่ายวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างรวดเร็ว และคาดว่าประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลประกาศว่าจะมีการทบทวนมาตรการดังกล่าวอีกครั้งในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์

ผลของการประกาศ Lockdown ครั้งนี้ ส่งผลให้ร้านค้าสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องปิดให้บริการ รวมถึงร้านอาหารและผับซึ่งไม่อนุญาตให้รับประทานในร้าน แต่ยังเปิดให้บริการ take away และ delivery ได้ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับการหามาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการ Lockdown ในขณะที่ นาย Rishi Sunak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ เช่น การขยายเวลามาตรการ Farlough ออกไปจนถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิ

มาตรการ Lockdown นี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจากการสำรวจของ British Chambers of Commerce พบว่ายอดขายในช่วงเดือน ต.ค. – ธ.ค. 63 ลดลงมากถึงร้อยละ 43  ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมการให้บริการ (Hospitality) และอาหารลดลงมากขึ้นถึงร้อยละ 79 และมีธุรกิจเพียงร้อยละ 26 เท่านั้นที่มียอดขายเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจที่ต้องให้บริการต่อหน้าลูกค้าได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการ Lockdown ครั้งที่ 2 (เมื่อช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. ที่ผ่านมา) นอกจากนี้ การสำรวจยังคงพบว่าการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจาก – 26% (ในเดือน ส.ค. –ก.ย.) เป็น -8% (ในเดือน ต.ค. –ธ.ค.) ซึ่งอาจเป็นผลจากการกักตุนสินค้าเนื่องจาก Brexit อย่างไรก็ตาม British Chambers of Commerce มีความเห็นว่าการเร่งฉีดวัคซีนอาจจะส่งผลในเชิงบวกทางเศรษฐกิจ แต่การประกาศ Lockdown ครั้งที่ 3 นี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงันอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับความเห็นของสำนักข่าว Bloomberg ที่เห็นว่าการประกาศ Lockdown โดยไม่มีการกำหนดช่วงเวลาสิ้นสุดจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงันอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Double Dip) และมีการประเมินว่าการ Lockdown จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมูลค่า 18,000 ล้านปอนด์ต่อเดือน หรือเทียบเท่ากับการผลิตมวลรวม (Gross Domestic Production) ถึงร้อยละ 18 โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการบริการซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญต่อ GDP ของสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ มีการรายงานว่า 3 ใน 10 ของธุรกิจบริการ Hospitality business มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ในช่วงไตรมาสแรก และ 4 ใน 10 ชองธุรกิจร้านอาหารและบริการที่พักได้เลิกกิจการชั่วคราวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการที่ส่งผลให้การให้บริการทำได้อย่างจำกัด และส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของธุรกิจ

ที่มา: BBC News /The Independent /Bloomberg/The telegraph

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความเห็น สคต.

          การประกาศ Lockdown ครั้งที่ 3 ของสหราชอาณาจักรส่งผลให้ภาคธุรกิจที่มีความหวังจะฟื้นตัวในช่วงต้นปี 2564 ชะลอลง โดยการที่รัฐบาลได้กลับมาใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มข้นส่งผลให้ธุรกิจบริการได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากโดยเฉพาะธุรกิจบริการร้านอาหาร อย่างไรก็ตาม มาตรการ Lockdown ครั้งนี้ ยังอนุญาตให้มีการขายอาหารแบบ take away และ delivery ซึ่งจะยังช่วยให้ธุรกิจร้านอาหารยังมีกระแสเงินสดต่อไปในอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ สคต.เห็นว่า บรรยากาศในการให้บริการแบบ take away และ delivery เป็นการบริการที่ผู้ใช้บริการเริ่มมีความคุ้นเคยในการใช้บริการแล้ว และคาดว่าจะส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอาหารแบบ delivery และ take away ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และอาหารสดพร้อมปรุง (Ready-to-cook) และรวมไปถึงจักรยานและรถจัรยานยนต์ ที่ผู้ส่งออกไทยอาจหาโอกาสในการเข้าตลาดสหราชอาณาจักรมากขึ้น ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงลอนดอน ได้มีการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทยและวัตถุดิบอาหารไทยในสื่อ Social media อย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจใช้บริการร้านอาหารไทยและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารไทย

สรุปโดย สคต. ลอนดอน

ข่าวสัปดาห์ 2-8มกราคม 64 – lockdown