ถึงแม้ว่าในช่วงสัปดาห์นี้ (29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2563) ได้กำหนดให้มีการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปเป็นรอบสุดท้าย ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องสรุปผลการเจรจาเพื่อให้ความ ตกลงสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2564 แต่ในช่วงเดือนที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรกลับสร้างความกังวลให้แก่สหภาพยุโรปโดยการผลักดันการออกกฎหมายการค้าภายใน (Internal Market Bill) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การค้าสินค้าและบริการระหว่าง อังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งสหภาพยุโรปเห็นว่าจะเป็นการขัดต่อข้อตกลง Withdrawal Agreement ที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้าในเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังไอร์แลนด์เหนือ

นาง Ursula von der Leyen (ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป) กล่าวว่า สหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้สหราชอาณาจักรพิจารณาทบทวนให้นำข้อบทส่วนที่เกี่ยวข้องกับไอร์แลนด์เหนือโดยเฉพาะข้อที่กระทบต่อข้อตกลง Withdrawal Agreement ออกจาก Internal Market Bill ภายในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่สหราชอาณาจักรยังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว คณะกรรมาธิการยุโรป (EU Commission) จึงได้ตัดสินใจเริ่มกระบวนการทางกฎหมายต่อการออก Internal Market Bill ของสหราชอาณาจักร โดยส่งหนังสือแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการขอให้ สหราชอาณาจักรทบทวนปรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับไอร์แลนด์เหนือภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายจะมีขึ้นที่ The European Court of Justice ซึ่งหากศาลตัดสินให้สหภาพยุโรปชนะในกรณีดังกล่าว สหราชอาณาจักรจะถูกเรียกปรับเงินเป็นรายวันจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขตามข้อเรียกร้องเสร็จสิ้น โดยสหราชอาณาจักรจะต้องดำเนินการตามข้อเรียกร้องภายในสิ้นเดือนตุลาคม ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายที่อาจยาวนานถึง 35 เดือน ทั้งนี้ การดำเนินการทางกฎหมายของสหภาพยุโรปนั้นสามารถทำได้ภายใต้ Withdrawal Agreement ที่เปิดโอกาสให้ศาลสหภาพยุโรปสามารถพิจารณาข้อพิพาทต่างๆ ที่เกี่ยวกับสหราชอาณาจักรได้ หากศาลพิจารณารับฟ้องก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ ผู้แทนสหราชอาณาจักร กล่าวว่าสหราชอาณาจักรมีเหตุผลที่เหมาะสมในการออกกฎหมาย Internal Market Bill ที่เกี่ยวข้องกับไอร์แลนด์เหนือ โดยจะชี้แจงต่อสหภาพยุโรปต่อไป

สำหรับความคืบหน้าในการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป หัวหน้าคณะเจรจาของสหราชอาณาจักร (Lord David Frost) เห็นว่าสหภาพยุโรปจะต้องปรับนโยบายในการเจรจาให้มีความยืดหยุ่นกว่านี้ ซึ่งสหภาพยุโรปควรคำนึงถึงความเป็นจริงที่สหราชอาณาจักรจะยอมรับข้อเสนอต่างๆ ของสหภาพยุโรปได้ อาทิ ข้อเรียกร้องในเรื่องสิทธิการประมง และกฎระเบียบด้านการอุดหนุนอย่างไรก็ตาม การเจรจาอย่างไม่เป็นทางการในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายเริ่มปรับท่าทีเข้าหากัน และยังคงมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะมีความตกลงร่วมกัน

นอกจากนี้ Lord David เห็นว่าสหภาพยุโรปได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่ตกลงในเรื่องการยกเว้นภาษีให้แก่รถยนต์ที่ประกอบในสหราชอาณาจักรโดยใช้ชิ้นส่วนจากประเทศอื่นในการประกอบรถยนต์ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ในปี 2563 สหราชอาณาจักรมีการส่งออกรถยนต์ประมาณ 1.06 ล้านคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของการผลิตภายในประเทศไปยังสหภาพยุโรป

สำหรับประเด็นเรื่องสิทธิในการประมงนั้น สหราชอาณาจักรได้เสนอช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (transition period) เป็นระยะเวลา 3 ปีให้แก่สหภาพยุโรป โดยเป็นการลดปริมาณการประมงของสหภาพยุโรปในน่านน้ำของ สหราชอาณาจักรอย่างค่อยเป็นค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสหภาพยุโรปยังเห็นว่าไม่ตรงต่อข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้มีการกำหนดโควตาในการประมงอย่างชัดเจน

ที่มา: The Telegraph

ข้อคิดเห็น สคต.

สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปได้ดำเนินการเจรจามาถึงรอบสุดท้าย ในขณะที่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนในประเด็นค้างคามากนัก แต่สหราชอาณาจักรได้มีข้อเสนอที่ยืดหยุ่นมากขึ้นต่อสหภาพยุโรปในเรื่องสิทธิการประมง ซึ่งสหภายุโรปยังคงเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้กดดันสหราชอาณาจักรในเรื่องการใช้กฎหมาย Internal Market Bill โดยแสดงท่าทีว่าสหภาพยุโรปพร้อมดำเนินการทางกฎหมายหากสหราชอาณาจักรยังไม่แก้ไขข้อกังวลในเรื่องนี้ โดยไม่ปรับปรุงแก้ไข Internal Market Bill รวมถึงแสดงท่าทีว่ากฎหมายภายในดังกล่าว จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเจรจาความตกลงการค้าที่กำลังดำเนินอยู่ และไม่เห็นด้วยที่สหราชอาณาจักรจะออกกฎหมายภายในใดที่ส่งผลกระทบต่อ Withdrawal Agreement

สำหรับความคืบหน้าในการเจรจานั้น Lord David เห็นว่าสหภาพยุโรปได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ตกลงที่จะยกเว้นภาษีให้แก่รถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนที่ผลิตภายนอกสหราชอาณาจักร เช่น ญี่ปุ่น หรือตุรกี เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยควรตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับจากการส่งออกมายังสหราชอาณาจักรเมื่อครั้งเป็นสหภาพยุโรปเพื่อพิจารณาในเรื่องความสามารถในการแข่งขันส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยไปยังสหราชอาณาจักร และควรติดตามข่าวสารหากผู้ผลิตยานยนต์ในสหราชอาณาจักรต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งออกไปยังตลาดอื่นหรือตลาดใหม่ภายหลังจาก 31 ธันวาคม 2563