หลังจากที่สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปได้เจรจาความตกลงการค้าหลังจาก Brexit ร่วมกันมาเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน และการเจรจาได้ล่วงเลยกรอบเวลาการเจรจารอบสุดท้ายไปแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังคงไม่มีทีท่าที่จะสามารถสรุปความตกลงกันได้ในประเด็นสำคัญหลายประเด็น เช่น สิทธิการประมง และการออกกฎหมายภายในประเทศ เป็นต้น

ในการประชุม EU Summit ในช่วงวันที่ 15 -16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผู้นำหลายประเทศของ EU ได้เรียกร้องให้สหราชอาณาจักรแสดงความจริงใจในการเจรจาโดยยอมรับข้อเสนอของสหภาพยุโรปเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถมีความตกลงการค้าร่วมกันได้ โดยผู้นำหลายประเทศได้ให้ความเห็นในเรื่องการจัดทำความตกลงไปในทิศทางที่แตกต่างกัน อาทิ นาง Angela Markel นายกรัฐมนตรีเยอรมันนี เรียกร้องให้สหราชอาณาจักรดำเนินการเจรจาความตกลงการค้าต่อไป และเห็นว่าสหภาพยุโรปพร้อมที่จะปรับท่าทีในการเจรจาเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ในที่สุด ในขณะที่นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เรียกร้องให้สหราชอาณาจักรยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้เสนอให้มีการเจรจาต่อไปอีกเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์เพื่อให้ได้ข้อสรุปของข้อตกลงการค้า

ทางด้านฝ่ายสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 16 ต.ค 63 นายกรัฐมนตรี นาย Boris Johnson ได้ออกแถลงเรื่องการเจรจาความตกลงการค้าร่วมกับสหภาพยุโรปว่า สหราชอาณาจักรพร้อมที่จะยุติการเจรจาหากสหภาพยุโรปไม่ปรับท่าทีการเจรจาให้ยอมรับข้อเสนอของสหราชอาณาจักร และสหราชอาณาจักรพร้อมที่จะมีความตกลงการค้าในรูปแบบเดียวกันกับความตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรป – ออสเตรเลีย (การค้าอยู่ภายใต้กรอบของ WTO มีการจัดทำ framework agreement ที่ครอบคลุมความร่วมมือหลายด้าน และอาจมีข้อตกลงการค้ารายสาขา)

อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายที่เดิมได้วางแผนไว้ในช่วงสัปดาห์ที่ 19 ตุลาคม ได้ถูกยกเลิก โดย Lord Frost หัวหน้าคณะเจรจาของสหราชอาณาจักร ได้หารือกับนาย Barnier หัวหน้าคณะเจรจาของสหภาพยุโรปหลังจากการยกเลิกการเจรจาดังกล่าว ถึงแม้สหภาพยุโรปจะต้องการหารืออย่างเข้มข้นเพื่อสรุปผลการเจรจาให้ได้ในช่วง 4 สัปดาห์ที่เหลือก็ตาม ฝ่ายสหราชอาณาจักรยังเห็นว่าหากสหภาพยุโรปยังคงยืนยันท่าทีเดิมที่ต้องการให้ สหราชอาณาจักรยอมรับข้อเรียกร้องโดยไม่ยืดหยุ่นท่าทีในการเจรจาจากเดิม ทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีความจำเป็นที่จะเริ่มต้นเจรจากันอีกครั้ง ทั้งนี้ การประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปจะดำเนินต่อไปเพื่อให้สามารถสรุปการบังคับใช้ Withdrawal Agreement ได้

นอกจากนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้เริ่มประชาสัมพันธ์ต่อธุรกิจต่างๆ ภายใต้หัวข้อ “time is running out” (เวลากำลังจะหมดลง) โดยแจ้งต่อภาคธุรกิจกว่า 2 แสนรายในสหราชอาณาจักรให้เตรียมพร้อมต่อ Brexit โดยไม่มีข้อตกลงการค้าในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งนับเป็นระยะเวลาน้อยกว่า 75 วัน (ณ วันที่ 19 ตุลาคม) ในขณะที่การค้าภายใต้กฎระเบียบของสหราชอาณาจักรอาจเป็นโอกาสในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการได้  ทั้งนี้ รัฐบาลได้แจ้งให้ภาคเอกชนเตรียมพร้อมในเรื่องพิธีการศุลกากรที่จะเกิดขึ้นหลัง Brexit การเดินทางไปทำธุรกิจในสหภาพยุโรปที่อาจต้องใช้ Visa หรือใบอนุญาต การจ้างงานคนจากสหภาพยุโรป การใช้ข้อมูลส่วนบุคคล และการเตรียมพร้อมในเรื่องใบอนุญาตต่างๆ หากต้องการดำเนินธุรกิจในสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: The Telegraph/The guardians/Sky News/BBC

ข้อคิดเห็น สคต.

หลังจากความพยายามในการเจรจาความตกลงการค้าของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาไม่สามารถสรุปผลได้ทันตามกำหนดเนื่องจากความแตกต่างในท่าทีการเจรจาที่มีทีท่าว่าจะไม่สามารถตกลงกันได้ สหราชอาณาจักรได้เดินหน้าเตรียมความพร้อมภาคธุรกิจโดยแจ้งให้เตรียมความพร้อมที่จะออกจากสหภาพยุโรปอย่างไม่มีข้อตกลง โดยหวังว่าการออกจากสหภาพยุโรปโดยจะส่งผลให้สหราชอาณาจักรมีอิสระในการดำเนินนโยบายทางการค้าได้อย่างเสรี ประกอบกับการประกาศนโยบาย Global Britain ที่ย้ำว่าสหราชอาณาจักรจะใช้โอกาสนี้ในการดำเนินนโยบายการค้ากับต่างประเทศอย่างเข้มข้น โดยเห็นได้จากการเร่งทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ของสหราชอาณาจักร

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ส่งออกไทยนั้น อาจได้รับผลกระทบในเรื่องกฎ ระเบียบ หรือมาตรฐานสินค้าที่แตกต่างกันระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ซึ่งผู้ส่งออกควรศึกษาให้แน่ใจว่าหน่วยงานที่ให้การรับรองมาตรฐาน หรือการออกมาตรฐานต่างๆ เป็นหน่วยงานที่สหราชอาณาจักรหรือสหภาพยุโรปยอมรับ ในส่วนของการขนส่งระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปนั้นเป็นที่แน่ชัดว่าจะต้องมีพิธีการศุลกากรเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้าระหว่างกัน ดังนั้น การส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งและอัตราภาษีนำเข้าที่แตกต่างกันไปตามจุดหมายปลายทางของสินค้าข่าวสัปดาห์ 17-23 ตค 63 – Brexit