ข้อเท็จจริงข่าว สำนักข่าว BBC ได้รายงานว่า สหราชอาณาจักรเผชิญกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง และการชะลอตัวการลงทุนของภาคธุรกิจ โดยนาย Peter Spencer หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ the EY Item Club กล่าวว่า แม้ว่าได้มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะเติบโต 1.9% ในปี 2016 แต่ในภาพรวมของเศรษฐกิจยังไม่ดีมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการที่เงินปอนด์อ่อนค่าลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อรายได้และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลง ดังนั้น จากคำกล่าวที่ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมีความมั่นคงนับตั้งแต่การลงประชามติตัดสินใจออกจาก EU ในเดือนมิถุนายนนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง

เจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารแห่งอังกฤษกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นกว่าที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2 % ในขณะที่รองผู้ว่าการธนาคารแห่งอังกฤษเปิดเผยว่า การที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การควบคุมราคาด้วยนโยบายการเงินที่เข้มงวดอาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 2.6% ในปี 2017 และลดลง 1.8% ในปี 2018 เนื่องจาก การใช้จ่ายของผู้บริโภคหดตัวลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 2.5% เหลือ 0.5% ในปี 2017 และ 0.9 ในปี 2018

นอกจากนี้ การลงทุนของภาคธุรกิจ คาดว่าจะลดลง เนื่องจากความไม่แน่นอนต่ออนาคตของความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะหดตัวลดลง 1.5% ในปี 2016 และลดลงมากกว่า 2% ในปี 2017 ในขณะที่ ผู้ส่งออกของสหราชอาณาจักรจะได้ประโยชน์ต่อการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ โดยการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.5% และ 5.6% ในปี 2017 และ 2018 ตามลำดับ ซึ่งภาคการส่งออกจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  อย่างไรก็ดี เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากจาก EU ภาคธุรกิจบางสาขา อาทิ อากาศยาน ยานยนต์  และเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีการส่งออกไปยัง EU จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจต้องการได้รับการสนับสนุนโดยการชดเชยและนโยบายส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมจากรัฐบาล

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย) สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 19 ของไทยและเป็นอันดับที่ 3 ในยุโรป (อันดับสาม รองจากเยอรมนีและสวิสเซอร์แลนด์) โดยในปี 2559 (ม.ค.-ส.ค.) การค้ารวมมีมูลค่า 3,739 (-16.32) ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 1.40 ของการค้าทั้งหมดของไทย เป็นการส่งออกมูลค่า 2,459 (-6.56%)  ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการนำเข้ามูลค่า  1,280 (-30.32%) ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,180 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมายังสหราชอาณาจักร เนื่องจากการที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงมากขึ้นนั้น ทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรวมทั้งไทยมีราคาสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อสินค้า นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคของภาคครัวเรือนชะลอตัวลง

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรภายหลังจาก Brexit เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่มีการถกเถียงอย่างต่อเนื่องตามสื่อต่างๆ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากสหราชอาณาจักรอาจสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงตลาดร่วม (single market) ของสหภาพยุโรป ซึ่งสะท้อนจากการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัวลง โดยจากการคาดการณ์ของหลายหน่วยงานเศรษฐกิจ มีความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลของ Brexit จะส่งผลกระทบอย่างแท้จริงต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ในปี 2560 ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนจะยังคงอยู่กับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรต่อไป จนกว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการเจรจาความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ซึ่งขณะนี้ ยังคงมีกระแสข่าวแนวโน้มการออกจากสหภาพยุโรปที่สหราชอาณาจักรจะต้องสูญเสียสิทธิต่างๆ ในการเป็น customs union กับสหภาพยุโรป