Fitch ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินชั้นนำของโลกได้ออกมาเตือนว่า การโหวตออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 อาจส่งผลต่อความเป็นเอกภาพในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปที่ยังคงอยู่ การเพิ่มความเข้มแข็งแก่กลุ่มต่อต้านสหภาพยุโรป รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรป โดยก่อนหน้า Fitch ได้เคยออกมาเตือนว่า การออกจากสหภาพยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อเถือของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร และเน้นย้ำถึงความเสี่ยงต่อนักลงทุน โดยภาคธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ธุรกิจสายการบินของประเทศ และธุรกิจค้าปลีก ในขณะเดียวกันผลของค่าเงินปอนด์ที่อ่อนลงจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ Fitch ยังได้เตือนว่า การออกจากสหภาพยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ และเพิ่มความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรป เนื่องจากการเจรจาเงื่อนไขของการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรอาจต้องใช้ระยะเวลาและทรัพยากรเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังนำไปสู่การเปิดประเด็นใหม่ๆ ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ซึ่งอาจ

ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจุดศูนย์กลางอำนาจของสหภาพยุโรป และถูกครอบงำโดยกลุ่มประเทศยุโรปที่มีแนวคิดการปกป้องทางการค้าและต่อต้านการเปิดเสรีการค้า รวมทั้งหากการออกจากสหภาพยุโรป ส่งผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ก็อาจจะเป็นการกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวบ้าง
ในด้านการค้า การออกจากสหภาพยุโรป อาจส่งผลให้การส่งออกของสหภาพยุโรปมายัง สหราชอาณาจักรลดลง แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ การเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป และการอ่อนค่าของเงินปอนด์ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ไอร์แลนด์ มอลตา เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ไซปรัส และลักซัมเบิร์ก ซึ่งมีสัดส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการมายังสหราชอาณาจักรอย่างน้อยร้อยละ 8 ของ GDP นอกจากนี้ การออกจากสหภาพยุโรป อาจเป็นสาเหตุให้ สก็อตแลนด์ ขอแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม Fitch มองว่าการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในเชิงลบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอาจเกิดขึ้นในระยะกลางมากกว่าโดยทันที ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่สำคัญ โดยก่อนหน้านั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งสหราชอาณาจักร นาย Mark Carney ได้กล่าวว่าการตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปอาจทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอยู่ในสภาวะที่ถดถอย

ที่มา: The Guardian
ผลกระทบต่อการส่งออกไทย/ข้อเสนอแนะ

นับถอยหลังอีกประมาณเพียง 6 สัปดาห์ ก็จะได้ทราบผลการหยั่งเสียงการลงประชามติว่า สหราชอาณาจักรจะคงอยู่หรือออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่ประเทศทั่วโลกกำลังจับตามอง และยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นตามสื่อต่างๆ ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นครอบคลุมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยฝ่ายที่สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรคงอยู่ในสหภาพยุโรป นำโดยนายกรัฐมนตรี นายเดวิด คาแมรอน ได้ชูประเด็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า การลงทุน การจ้างงาน และความมั่นคงของประเทศ หากสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ในขณะที่ฝ่ายเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป นำโดยนายบอริส จอหน์สัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ได้หยิบยกถึงประโยชน์ของการออกจากสหภาพยุโรปว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถขยายตลาดไปยัง นอกภูมิภาคได้คล่องตัวมากขึ้น โดยเห็นว่าปัจจุบันกลไกการดำเนินงานของสหภาพยุโรปมีระบบขั้นตอนที่
มาก (Brussels red tape) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญหนึ่งต่อการทำธุรกิจ ทั้งนี้ เรื่อง Brexit เป็นประเด็นสำคัญที่ไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป