จากการสำรวจของธนาคาร บริษัทประกัน และ บริษัทปล่อยสินเชื่อ ในสหราชอาณาจักร พบว่ามีผู้ถูกหลอกลวงเงินจากมิจฉาชีพ จำนวน 800 รายต่อวัน คิดเป็นจำนวนเงิน 5 ล้านปอนด์ต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงผ่านการทำธุรกรรมทางการเงินและบัตรเครดิต ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 จากปี 2558 นอกจากนี้แล้วยังมีการหลอกลวงเงินจากเหยื่อในรูปแบบอื่น เช่น บริษัทส่งของ (Courier Scam) การแอบอ้างเป็นบุคคล (Identity Fraud) การลงทุน (Investment Fraud) เป็นต้น การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ก็ตกเป็นเป้าหมายหนึ่งจากพวกมิจฉาชีพเช่นกัน โดยปัจจุบันบริษัทมักจะถูกหลอกลวงผ่านทางโลกไซเบอร์ ในรูปแบบ อีเมลล์ และเว็บไซต์ประเภทฟิชชิ่ง (Phishing) โดยในปี 2558 สหราชอาณาจักร มีผู้ถูกหลอกลวงผ่านทางโลกไซเบอร์จำนวน 2.5 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานที่เก็บข้อมูลต่างๆ ใน smart phone โดยสร้างความเสียหายไม่น้อยกว่า 600 ล้านปอนด์
เว็บไซต์ประเภทฟิชชิ่ง (Phishing) เป็นกลวิธีในการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำมาแอบอ้างหรือปลอมแปลง โดยข้อมูลส่วนตัวนั้นมักจะเป็นรหัสประจำตัวต่างๆ Password เลขที่บัตรเครดิต เลขที่บัญชี หรือเลขที่บัตรประชาชน กลวิธีในการหลอกลวงแบบต่างๆ มีดังนี้
1. ปลอมแปลงลักษณะของอีเมลล์ให้เหมือนเป็นการส่งมาโดยธนาคาร สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่มีชื่อเสียง
2. สร้างเว็บไซต์เลียนแบบ ซึ่งมักจะเป็นกลวิธีที่ใช้กับเว็บไซต์ทางการเงินอย่างธนาคารออนไลน์ เพื่อทราบข้อมูล รหัสประจำตัว และ Password แล้วนำข้อมูลดังกล่าวไปทำธุรกรรมทางการเงิน

ที่มา : The Mail on Sunday

ข้อแนะนำไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
1. ไม่หลงเชื่อข้อความใดๆ ในอีเมลล์ หรือโทรศัพท์ที่ได้รับ หากมีการแอบอ้างว่าติดต่อมาจากสถาบันการเงินหรือบริษัทใดก็ตาม ทั้งนี้ ควรตรวจสอบความถูกต้องเสมอ
2. ไม่ใช้เว็บลิ้งค์ในอีเมลล์ที่ได้รับเพื่อการเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ โดยให้ใช้วิธีพิมพ์ URL เข้าสู่เว็บไซต์ของบริษัทดังกล่าวด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่เว็บไซต์ปลอม
3. ตรวจสอบบัญชีและใบแจ้งรายการใช้บัตรเครดิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีรายการธุรกรรมแปลกปลอม หากพบรายการที่น่าสงสัยให้ติดต่อธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรทันที

นอกจากนี้แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจควรจะใช้วิธีการชำระเงินที่ปลอดภัย เช่น Letter of Credit ( L/C) ซึ่งเป็นการชำระเงินที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายและปลอดภัย ควบคู่ไปกับการตรวจสอบความถูกต้องของบริษัทคู่ค้าด้วย โดยสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบริษัทในสหราชอาณาจักรได้โดย
1. การตรวจสอบการจดทะเบียนบริษัท ผ่านทางเว็บไซต์ Companies House www.gov.uk/government/organisations/companies-house
2. การตรวจสอบเลขประจำตัวการเสียภาษี (VAT) ของบริษัท
http://ec.europa.eu/taxation_customs/vies/