สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปได้มีการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างกันรอบที่ 8 เมื่อวันที่ 8-10 กันยายน 2563 ณ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นการเจรจาในประเด็นที่ต่อเนื่องจากการเจรจารอบที่แล้ว โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ยังคงค้างคา เช่น การแข่งขันอย่างเท่าเทียม (level of playing field) สิทธิในการประมง กฎหมาย และความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ

ในการเจรจาครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร (นายบอริส จอห์นสัน) กล่าวว่า เนื่องจากกระบวนการทางกฎหมายภายในของทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้การเจรจาจะต้องรีบสรุปให้ได้ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ได้ทันต้นปี 2564 ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้ไม่สามารถขยายเวลาในการเจรจา ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรต้องการมีความตกลงในรูปแบบเดียวกันกับที่สหภาพยุโรปได้จัดทำร่วมกับแคนาดา และยืนยันในเรื่องสิทธิทางกฎหมายภายในประเทศ กฎระเบียบภายใน และสิทธิในการประมง โดยพร้อมที่จะสานความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาประเทศ สำหรับความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรพร้อมที่จะเจรจาในประเด็นความร่วมมือต่างๆ เช่น การบิน การขนส่งทางบก และวิทยาศาสตร์ และเรียกร้องให้สหภาพยุโรปพิจารณาข้อเสนอของสหราชอาณจักร เพื่อให้สรุปผลการเจรจาได้ทันตามที่กำหนด ซึ่งนาย David Frost หัวหน้าคณะเจรจาของสหราชอาณาจักร ได้ยืนยันว่าสหราชอาณาจักรจะยืนยันเรื่องอาณาธิปไตยของประเทศเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจา

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้แสดงท่าทีต่อการเตรียมการออกกฎหมายการค้าภายใน (Internal Market Bill) ของสหราชอาณาจักรว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นการขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันใน Withdrawal Agreement  และเห็นว่าการบรรลุความตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปอาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น การเจรจาในรอบนี้จึงยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก โดยสมาชิกรัฐสภาสหภาพยุโรปเริ่มให้สัญญาณว่า หากสหราชอาณาจักรยังคงยืนยันหลักการของกฎหมายการค้าภายในและไม่มีการแก้ไข ก็อาจส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายจะไม่สามารถมีความตกลงการค้าระหว่างกันได้ตามที่วางแผนไว้

ในขณะที่ด้านสหราชอาณาจักร ยังคงผลักดันกฎหมายการค้าภายใน (Internal Market Bill)  อย่างเข้มข้น โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการแปรญัตติครั้งที่ 2 ในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมาแล้ว โดยร่างกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การค้าสินค้าและบริการระหว่าง อังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ที่เป็นพื้นฐานของการค้าอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ หลายฝ่ายมีความกังวลว่าความไม่ชัดเจนในเรื่องการกำหนดกฎระเบียบ มาตรฐานสินค้าร่วมกันของทั้ง 4 รัฐ อาจส่งผลให้มีความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันของสินค้าและบริการระหว่างกันได้ ในขณะที่ ประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการอย่างเสรีในไอร์แลนด์เหนือจะส่งผลกระทบต่อข้อตกลง Withdrawal Agreement ที่ได้ตกลงไว้ในเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังไอร์แลนด์เหนือว่าจะต้องผ่านพิธีการศุลกากร และปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงชำระภาษีขาเข้าให้แก่สหภาพยุโรปโดยลักลอบขนส่งผ่านทางไอร์แลนด์เหนือ ดังนั้น กฎหมายการค้าภายในฉบับนี้จึงสร้างความกังวลให้หลายฝ่ายว่าจะเป็นการนำไปสู่การผิดข้อตกลงระหว่างประเทศที่สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปได้ตกลงร่วมกันก่อนหน้า

นักเศรษฐศาสตร์ของ JP Morgan ให้ความเห็นว่า หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถสรุปข้อตกลงได้จะส่งผลให้ GDP ของสหราชอาณาจักรในปี 2021 ลดลงถึง -3% สำหรับการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป รอบสุดท้ายจะมีขึ้นในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2563

ที่มา: Reuters/The Institute for Government

ข้อคิดเห็น สคต.

ถึงแม้ว่าการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะดำเนินมาถึงช่วงสุดท้ายแล้ว แต่การเจรจายังคงไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นสำคัญที่ยังค้างคา เช่น การแข่งขันอย่างเท่าเทียม (level of playing field) สิทธิในการประมง กฎหมาย และความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ และล่าสุดยังมีความกังวลในเรื่องกฎหมายการค้าภายใน ที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังคงต้องการผลักดันถึงแม้จะส่งผลให้เป็นการผิดข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยสหภาพยุโรปได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า กฎหมายการค้าภายในจะเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และแสดงความพร้อมที่จะทำการค้าโดยไม่มีความตกลงกับสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องกฎหมายการค้าภายในชี้ให้เห็นว่า อังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือยังไม่มีการจัดทำกฎระเบียบภายในร่วมกัน ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรต้องติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดถึงกฎระเบียบ โดยเฉพาะมาตรฐานสินค้าและอาหาร ว่าในแต่ละรัฐจะมีข้อกำหนดแตกต่างกันอย่างไร เนื่องจากอาจส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตสินค้า และการขนส่งสินค้าภายหลัง Brexit