ชาวสหราชอาณาจักร จำนวนกว่า 250,000 คน โดยการนำของกลุ่ม Greenpeace ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหราช-อาณาจักรออกกฎหมายห้ามการใช้ Microbeads ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับการอาบน้ำ (Toiletries) เช่น ยาสีฟัน, สครับขัดผิว และสบู่ เป็นต้น สืบเนื่องจาก Microbeads ที่ใช้เพื่อเป็นตัวขัดผิว หรือฟันนั้น ผลิตจากพลาสติกโพลีแอทลีน (Polyethylene) หรือโพลีพรอพเพอร์ลีน (Polypropylene) ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ อีกทั้ง มีขนาดเล็กเกินกว่าจะสามารถดักกรองได้โดยเครื่องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำและมหาสมุทร โดยก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์และระบบห่วงโซ่อาหาร ตลอดจนสุขภาพของผู้บริโภคหากรับประทานปลาและสัตว์น้ำที่กินพลาสติกชนิดนี้เข้าไป โดยสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ออกกฎหมายห้ามการใช้ Microbeads ในเครื่องสำอางแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรม อาทิ, L’Oreal, Unilever และ Johnson & Johnson ได้ยกเลิกการใช้พลาสติกดังกล่าวแล้วและได้ใช้สารสกัดจากธรรมชาติทดแทน เช่น เมล็ดโจโจ้บา (Jojoba Beads), เมล็ดแอปริคอท (Apricot Kernels) และเปลือกถั่ว เป็นต้น  ทั้งนี้ หลายประเทศในยุโรป อาทิ สวีเดน, ออสเตรีย, เบลเยียม, อิตาลี และลักเซมเบิร์ก ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) ออกกฎห้ามการใช้ Microbeads ในสหภาพยุโรปอีกด้วย

     ที่มา : The Guardian วันที่ 19 เมษายน 2559   

ผลกระทบต่อการส่งออกไทย/ข้อเสนอแนะ 

จากการสำรวจของ The Cosmetic, Toiletry & Perfumery Association (CTPA) พบว่าตลาดเครื่องสำอาง (Cosmetic) ในสหราชอาณาจักรในปี 2015 มีมูลค่าประมาณ 8.1 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้ 5 ประเภท คือ 1. ผลิตภัณฑ์สำหรับการอาบน้ำ (Toiletries) มีมูลค่า 2.04 พันล้านปอนด์ หรือ 1.02 แสนล้านบาท, 2. ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skincare) มีมูลค่า 1.81 พันล้านปอนด์ หรือ 90.5 หมื่นล้านบาท, 3. ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม (Haircare) มีมูลค่า 1.69 พันล้านปอนด์ หรือ 84.5 หมื่นล้านบาท, 4. เครื่องสำอางสำหรับตกแต่ง (Decorative Cosmetics) มีมูลค่า 1.30 พันล้านปอนด์ หรือ 65 หมื่นล้านบาท และ 5. น้ำหอม (Fragrances) มีมูลค่า 1.28 พันล้านปอนด์ หรือ 64 หมื่นล้านบาท โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดเครื่องสำอางในสหราชอาณาจักร จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 5 แสนล้านบาท ในปี 2017

ในปี 2015 สหราชอาณาจักรมีการนำเข้าเครื่องสำอาง (Cosmetic) จากไทยเป็นอันดับที่ 12 คิดเป็นมูลค่า 68.04 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.66 (โดยมีการนำเข้าหลัก 3 อันดับแรกจากประเทศ ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน) แบ่งเป็นการนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องสำอาง (Beauty Products) คิดเป็นมูลค่า 46.89 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.80 และ ผลิตภัณฑ์สุขอนามัยช่องปาก (Dental Hygiene) เช่น ยาสีฟัน ไหมขัดฟัน คิดเป็นมูลค่า 10.12 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.01 โดยส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ (OEM) อาทิ L’Oreal, The Body Shop, Boots, M&S และ Sanctuary เป็นต้น ซึ่งยังมีโอกาสขยายตลาดในสหราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันชาวสหราขอาณาจักรได้ให้ความสำคัญต่อการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Natural) และเกษตรอินทรีย์ (Organic) มากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ รวมถึงวัตถุดิบในการผลิต เช่น น้ำมันหอมระเหยจากพืชและสมุนไพร ในสหราชอาณาจักร ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการพัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทย ซึ่งจะส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าไทยมาจำหน่ายในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในประเทศ ณ กรุงลอนดอน

21 เมษายน 2559