ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (ONS) ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อที่ 5.1% ซึ่งเป็นผลจากภาคการขนส่งและพลังงานที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลต่อราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงเทศกาลคริสมาสที่ผ่านมามีการประมาณว่าแต่ละครัวเรือนในสหราชอาณาจักรจะต้องใช้จ่ายในเดือนธันวาคมมากขึ้นเฉลี่ยน 15 ปอนด์เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้สินค้าประเภทอาหาร เช่น เนื้อวัว ขนมขบเคี้ยว ผักผลไม้ และเครื่องประทินผิวมีราคาเพิ่มสูงขึ้น 

เมื่อเดือนธันวาคม Bank of England คาดว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรจะทวีความรุนแรงขึ้น และแตะระดับ 6% ในเดือนเมษายน ซึ่งจะเป็นผลมากจากการขึ้นภาษีของรัฐบาลสหราชอาณาจักรและจะส่งผลให้รายได้ต่อครัวเรือนลดลงในปีนี้ ทั้งนี้ Bank of England ประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 2% ในปี 2023 ในช่วงปีที่ผ่านมาค่าแก๊สที่เพิ่มสูงขึ้น 50% ในสหราชอาณาจักรได้ส่งผลให้ครัวเรือนแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าน้ำมัน และการขนส่งที่ส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศจีนอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีการใช้มาตรการปิดเมืองบางเมืองซึ่งอาจจะส่งผลต่อการผลิตสินค้าในประเทศจีนได้

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าถึงแม้อัตราค่าจ้างแรงงานในสหราชอาณาจักรเพิ่มสูงขึ้น และอัตราการว่างงานในสหราชอาณาจักรลดต่ำลงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานทั้งจากการแพร่ระบาดโควิด และ Brexit แต่นักวิเคราะห์ยังเห็นว่าอัตราค่าจ้างยังคงไม่สามารถตามอัตราเงินเฟ้อได้ทัน ส่งผลให้ผู้คนในสหราชอาณาจักรประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน

ที่มา: Reuters/BBC News/The Guardian

 

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความเห็น สคต.

สถานการณ์ต่างๆ ของโลกทั้งการระบาดของโควิด ค่าใช้จ่ายพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และ Brexit ต่างส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราการว่างงานของสหราชอาณาจักรได้กลับเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด และมีการขึ้นค่าแรงเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้คนยังสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ราคาสินค้าที่วางจำหน่ายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอาจไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายจากการขึ้นค่าแรง และค่าขนส่งได้ต่อไป ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรพิจารณาปรับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในสถานการณ์นี้ได้

สรุปโดย สคต. ลอนดอน