สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (Office of National Statistics: ONS) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2564 ชาวสหราชอาณาจักรมีการจับจ่ายสินค้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล Black Friday ซึ่งร้านค้าต่างมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้า ส่งผลให้ยอดการจับจ่ายสินค้าของชาว        สหราชอาณาจักรสูงที่สุดนับตั้งแต่สหราชอาณาจักรมีมาตรการ Lockdown ในเดือนมีนาคม 2563 ทั้งนี้ จากการศึกษาโดย Springboard ยังพบว่า จำนวนผู้บริโภคที่ออกมาจับจ่ายสินค้าในย่านร้านค้า (Retail destination) ในช่วงระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (ระหว่างวันที่ 22 – 28 พฤศจิกายน 2564) ร้อยละ 0.7

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของ Springboard ยังพบว่า สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (Omicron) ได้ส่งผลให้จำนวนผู้บริโภคที่ออกมาจับจ่ายสินค้าในย่านร้านค้าในเมืองใหญ่ลดลง ร้อยละ 3.8 ในขณะที่   ในเมืองเล็ก (Market town) กลับมีจำนวนผู้บริโภคที่ออกมาจับจ่ายสินค้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จับจ่ายสินค้าในย่านที่พักและไม่เดินทางไกล นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ Omicron ยังได้ส่งผลให้ยอดการจับจ่ายของผู้บริโภคในด้านบริการ เช่น ร้านอาหาร ลดลง โดยยอดการจับจ่ายของผู้บริโภคในด้านบริการ ต่ำที่สุดตั้งแต่สหราชอาณาจักรมีการคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนพฤษภาคม 2564

รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron  โดยมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้สร้างความกังวลให้กับธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการ (Leisure Business) ถึงผลกระทบที่จะมีต่อการค้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วง ‘Golden Quarter’ และมีการคาดการณ์ว่า จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร โดยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง ร้อยละ 0.4 ในเดือนธันวาคม 2564 และ ร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคม 2565 โดย British Chamber of Commerce ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะอ่อนแอในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565

ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์จาก the Centre for Economics and Business Research เห็นว่า มาตรการ Work from home จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่โดยปกติต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ซึ่งคาดการณ์ว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อยอดการจับจ่ายของผู้บริโภคในเมืองใหญ่ จำนวน 5 เมือง คือ London, Manchester, Newcastle, Nottingham และ Milton Keynes ในช่วงเดือนมกราคม 2565 เป็นมูลค่า 500 ล้านปอนด์ ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ เห็นว่า มาตรการสวมหน้ากากอนามัย และ การแสดง Vaccine Passport ในการเข้าสถานบริการต่างๆ จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคและธุรกิจต่างมีการปรับตัวตามมาตรการดังกล่าวตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และ มาตรการ/ข้อจำกัดที่เกี่ยวกับการเดินทาง คาดการณ์ว่าจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมธุรกิจบริการของสหราชอาณาจักร ต้องสูญเสียรายได้ 900 ล้านปอนด์ ในเดือนธันวาคมนี้

ที่มา: Retail Gazette และ The Guardian

ข้อมูลเพิ่มเติม/ ความเห็น สคต.

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ได้ส่งผลให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการออกมาจับจ่ายสินค้า และใช้บริการร้านอาหาร โดยมีรายงานว่าผู้บริโภคได้ยกเลิกการจองร้านอาหาร รวมถึง การเยือนโรงละครแล้ว ร้อยละ 20 – 50 อย่างไรก็ดี ร้านค้าปลีกได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าสำหรับเทศกาลคริสต์มาสในช่องทางออนไลน์

สคต. เห็นว่า ร้านค้าและร้านอาหารส่วนใหญ่ต่างปรับตัวและพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับจำหน่ายสินค้าในช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 เป็นต้นมา จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron นั้น จะส่งผลให้ชาวสหราชอาณาจักรซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมทั้ง สั่งอาหารรับประทานที่บ้านเพิ่มขึ้น ซึ่ง สคต. เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยควรที่จะพัฒนาเว็บไซต์ให้ทันสมัยเพื่อรองรับความต้องการในการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค