จากสถิติของ Department of International Trade ของสหราชอาณาจักร พบว่าในช่วงระหว่างวันที่  6 เมษายน 2558 – 5 เมษายน 2559 มีนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในสหราชอาณาจักร (Foreign Direct Investment: FDI) จำนวน 2,213 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปี 2557 โดยสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด (จำนวน 570 โครงการ) รองลงมาคือ จีน (จำนวน 156 โครงการ) และ อินเดีย (จำนวน 140 โครงการ) โดยภายหลังจาก Brexit บริษัท Softbank ของญี่ปุ่นได้เข้ามาซื้อบริษัท ARM ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบชิพสำหรับคอมพิวเตอร์ที่สำคัญของสหราชอาณาจักร เป็นมูลค่า 24 พันล้านปอนด์

จากสถิติแสดงให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรยังคงเป็นประเทศเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในยุโรป โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในด้าน พลังงาน และ โครงสร้างพื้นฐาน (Energy and Infrastructure), การผลิตขั้นสูง (Advanced Manufacturing), อิเล็กทรอนิกส์ และ การสื่อสารโทรคมนาคม (Electronics and Telecommunications), ชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences), อุตสาหกรมความคิดสร้างสรรค์ และ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Creative Industries and ICT), การเงิน และ การให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญ (Financial and Professional Services) เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการสร้างงานในประเทศเป็นจำนวน 116,000 ตำแหน่ง

โดยนาย Liam Fox รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ได้แถลงว่า จากสถิติแสดงให้เห็นว่า สหราชอาณาจักรยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายในการดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ๆ จากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุน เพื่อให้สหราชอาณาจักรยังคงเป็นประเทศเป้าหมายอันดับ 1 ในยุโรป ของนักลงทุน ทั้งนี้ นาย Simon French นักเศรษฐศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้สหราชอาณาจักรเป็นประเทศเป้าหมายสำหรับนักลงทุนนั้นสืบเนื่องมาจาก อัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร มีระบบกฎหมายที่น่าเชื่อถือ และเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU)

นอกจากนี้ นาย Simon French ยังได้ให้ความเห็นอีกว่า ผลของ Brexit อาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่า สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ปิดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในอนาคต

 

                                                 ที่มา :  BBC วันที่ 30 สิงหาคม 2559

 

 

ผลกระทบต่อการส่งออกไทย/ข้อเสนอแนะ

 

สหราชอาณาจักรสามารถดึงดูดนักลงทุนจากไทยให้เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ สืบเนื่องจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง ประกอบกับอสังหาริมทรัพย์ในสหราชาอาณาจักรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 บริษัทไทยที่เข้ามาลงทุนซื้อกิจการในสหราชอาณาจักร ได้แก่ กลุ่มบริษัทฟิโก้ และบริษัทสิงห์ เอสเตท ได้ร่วมทุนกิจการซื้อกิจการโรงแรมในเครือ Jupiter Hotel จำนวน 26 แห่ง, บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ เข้ามาซื้อกิจการโรงแรมในเครือ Hotel Du Vin จำนวน 29 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจาก Brexit นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างจับตาดูผลการเจรจาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป รวมถึงนโยบายและมาตรการของรัฐบาลในการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ก่อนตัดสินใจเข้ามาลงทุน