หนังสือพิมพ์ The Guardian ได้ลงบทความในเวปไซต์เรื่อง “Thailand: poultry workers cry fowl amid claim they’slept on floor next to 28,000 birds” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับการกดขี่แรงงานต่างด้าวในฟาร์มเลี้ยงไก่ธรรมเกษตร 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในฟาร์มที่ส่งผลผลิตให้แก่บริษัท เบทาโกร โดยแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในฟาร์มดังกล่าวมีการถูกกดขี่เยี่ยงทาสให้ต้องทำงานกะละ 22 ชั่วโมง ต้องนอนกับพื้นเพื่อเฝ้าดูแลไก่จำนวน 28,000 ตัว ถูกยึดหนังสือเดินทาง รวมทั้งไม่ได้รับสวัสดิการที่เป็นธรรมจากนายจ้าง เช่น ไม่มีวันหยุด อัตราค่าแรงที่ได้รับต่ำกว่าที่ภาครัฐกำหนด และยังถูกหักค่าที่พัก ค่าน้ำและค่าไฟทั้งๆ ที่ต้องนอนรวมกับไก่ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงรายงานของ Finnwatch ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่เรียกร้องให้บริษัททั่วโลกมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยพบว่า มีการเรียกค่าธรรมเนียมนายหน้าที่สูง และการยึดเอกสารการเดินทางของแรงงานเกิดขึ้นในฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับปัญหาการกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทยด้วย
ที่มา: The Guardian
ผลกระทบต่อการส่งออกไทย/ข้อเสนอแนะ

สคต. ลอนดอน เห็นว่า จากกรณีข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับประเด็นการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมไก่ของไทยดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการส่งออกสินค้าไก่ของไทยไปยังตลาดสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าไก่แปรรูปอันดับ 2 ของไทย รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อาหารสัตว์ และสินค้าประเภท ready to eat เนื่องจากห้างค้าปลีก/ซุปเปอร์มาร์เก็ต และผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคม การใช้แรงงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต/ ผู้ส่งออกสินค้ามาขายยังตลาดสหราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจสั่งซื้อ/เลือกซื้อสินค้า และอาจส่งผลให้หันไปเลือกซื้อสินค้าจากประเทศคู่แข่งของไทยแทน ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการกับผู้ประกอบการอย่างจริงจังเป็นรายกรณี หากพบว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐควรมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในอุตสาหกรรมไก่ของไทยอย่างเป็นรูปธรรมและสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรและยุโรป